ในทางกลับกัน ถ้าเรารู้ข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นว่าผู้ที่รับของขวัญนั้น เป็นเด็กผู้ชายอายุ 5 ขวบ ที่ติดตามรายการการ์ตูนและกีฬา ในวันว่างๆ พ่อกับแม่ของเด็กคนนี้จะชอบพาไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และน้องชอบอ่านหนังสือที่มีรูปผี แต่พ่อแม่ไม่อยากให้อ่านเลย ข้อมูลเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่บอกเราได้อย่างดีว่าเราควรจะซื้ออะไรให้น้อง
ลองเทียบดูสิครับ ระหว่างที่เรารู้แค่ว่าผู้ที่รับของขวัญจากเราเป็นเพียงเด็กผู้ชายคนหนึ่ง กับการที่เรารู้ลึกลงไปถึงชีวิตประจำวันของเด็กคนนี้ มันส่งผลต่อการเลือกของเรามากขนาดไหน และการเลือกของโดยที่เรารู้ว่าจะเอาไปให้ใคร จะช่วยสร้างความประทับใจได้มากกว่าแบบเห็นได้ชัด และเราจะเสียดายขนาดไหน ถ้าเราต้องเลือกของขวัญให้ใครคนหนึ่ง โดยที่รู้จักคนๆ นั้นแค่เพียงผิวเผิน
“ความรู้สึกเสียดายต่องานนั้นๆ ก็คือความรู้สึกของคนที่ทำงานด้าน UX ครับ”
ที่บอกได้แบบนี้ก็เพราะการรู้จักผู้ใช้เพียงผิวเผินทำให้เราพลาดโอกาสที่จะสร้างสิ่งที่ผู้ใช้จะรู้สึกว่ามันเป็นเสมือนของขวัญของเขา และเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับเขาได้ แม้ว่าหลายครั้ง เขาจะไม่รู้มาก่อนเลยว่าเขาควรจะอยากได้มัน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเครื่องปรับอุณหภูมิห้อง โปรแกรมในคอมพิวเตอร์ โปรแกรมบนสมาร์ทโฟน เว็บไซต์ หรือเครื่องดูดฝุ่น งานออกแบบ UX หรือ User Experience จะสามารถทำให้ของเหล่านั้นเป็นของขวัญที่ผู้ใช้ “รัก” ได้
ในทางกลับกัน ธุรกิจหรือสินค้าที่ไม่รู้จักผู้ใช้มาก่อน ย่อมมีโอกาสที่จะสร้างความประทับใจกับผู้ใช้ได้อย่างน้อยนิด และแทบจะพูดได้ว่าเป็นเหมือนการเสี่ยงดวงระดับปิดตายิงเป้าเลยทีเดียว เพราะเมื่อเราไม่รู้ว่าเป้าอยู่ตรงไหน สิ่งที่เรามักจะทำ ก็คือการเพิ่มจำนวนลูกธนูให้เยอะที่สุด หรือทำลูกธนูให้ใหญ่ที่สุด ยิงปืนใหญ่ได้ยิ่งดี ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาแบบนั้น ทำให้การลดต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ และกว่าจะได้งานชิ้นหนึ่งออกมา ก็ต้องใช้เวลานานขึ้น และที่สำคัญคือการทำงานกับทีมงานที่มีเป้าหมายในงานไม่ชัดเจนมันจะยากมากๆ
Read more